เด็กเล็กชอบล้อเลียนกัน เพราะคิดว่าเป็นการล้อเพื่อนเล่นด้วยความสนุก ซึ่งคนล้อสนุกแน่ แต่เป็นเรื่องตลกที่ไม่พึงประสงค์ของคนที่ถูกล้อ เพราะการถูกล้อนั้นอาจเกิดจากความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือสภาพเศรษฐกิจฐานะทางสังคมของฝ่ายที่ถูกล้อ หรือหน้าตาผิวพรรณที่แตกต่างจากเพื่อน ๆ ทำให้ฝ่ายที่ถูกล้อเลียนเกิดความอับอาย สับสน เครียด ซึมเศร้า รู้สึกตัวเองถูกด้อยค่า ขาดความสุข มองไม่เห็นความเป็นมิตรจากผู้อื่น ไม่อยากพบปะผู้คน ไม่อยากไปโรงเรียน ฯลฯ
เมื่อลูกน้อยของเราเข้าโรงเรียน ได้พบกับเพื่อนมากหน้าหลายตา ซึ่งมาจากต่างครอบครัวและต่างสังคม เราเป็นผู้ที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ต้องใช้ความสังเกตให้ดีว่าลูกมีความผิดปรกติหรือไม่ เมื่อกลับจากโรงเรียน เนื่องจากลูกอาจยังเล็กเกินไปที่จะบอกเล่า หรือไม่กล้าหรือไม่รู้จะเริ่มต้นบอกพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างไร หรือถูกข่มขู่ไม่ให้บอกเล่า และก่อนที่จะไปถึงภาวะนั้น เรามีวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันความเปราะบาง จากการถูกล้อเลียนให้ลูกของเราได้อย่างไร มาดูกันค่ะ
พูดคุยกับลูกให้รู้ว่าการล้อเลียนของเพื่อน ๆ เป็นเรื่องธรรมดา แม้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังถูกล้อเลียนจากเพื่อนร่วมงานหรือคนอื่น ๆ ซึ่งหากไม่หนักหนาจนเกินไป ก็ให้อภัยกันได้ ถือเป็นเรื่องสนุกในกลุ่มเพื่อน ๆ แต่ถ้าหากมากเกินไป สอนลูกไม่ให้ค่ากับผู้กระทำ และไม่ตอบโต้การล้อเลียนด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราต้องรับฟังเรื่องราวจากลูกด้วยความสงบ บอกให้ลูกน้อยรู้ว่าเราอยู่เคียงข้างลูกเสมอ และอาจแก้ปัญหาด้วยการขอเข้าพบคุณครู เด็กและผู้ปกครองของเด็กคนนั้น เพื่อยับยั้งการล้อเลียนที่เกินเลยไป และเป็นการสอนจริยธรรมให้เด็กผู้กระทำ ไม่ให้ทำร้ายจิตใจของเพื่อนด้วยคำพูดเชิงลบ ซึ่งผู้กระทำอาจกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการก็เป็นได้
ส่งเสริมให้ลูกสร้างกลุ่มมิตรสัมพันธ์ได้ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการรู้จักใช้ปิยวาจา มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีความจริงใจในการคบเพื่อน แบ่งปันนิทานสนุก ๆ ให้เพื่อนอ่าน นำขนมอร่อย ๆ จากที่บ้านมาฝากเพื่อนสนิทหรือเพื่อนที่รู้ใจ เป็นเพื่อนเล่นกัน ไปกินอาหารด้วยกันที่โรงอาหาร เล่นเกมด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ ไปห้องสมุดเลือกหนังสือมาอ่านด้วยกัน ฯลฯ ทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยลูกสร้างภาวะผู้นำให้ตนเอง ขยายแวดวงกัลยาณมิตร ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน มีการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความสุข ความสนุก และความมั่นใจขณะอยู่ที่โรงเรียน
ฝึกลูกให้รู้จักการทำสมาธิแบบง่าย ๆ ด้วยการหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแห้ง สูดและผ่อนลมหายใจลึก ๆ ยาว ๆ เพื่อสร้างสมาธิทั้งในเรื่องการเรียนและการรู้เท่าทันการล้อเลียน และช่วยให้ปรับตัวและรับมือกับความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นการฮีลใจที่ให้ประโยชน์สูงแบบไฮสปีด เราเองต้องให้เวลาและใส่ใจกับเรื่องราวของลูกให้มาก ๆ เพื่อลูกจะได้เติบโตอย่างเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกาย และจิตใจไม่แกว่งไกวไปตามสถานการณ์ เนื่องจากการถูกล้อเลียนไม่ใช่ความผิดของลูก แต่เกิดจากการขาดวุฒิภาวะทางจิตใจของอีกฝ่าย การฝึกให้ลูกน้อยรู้จักความอดทนและความเข้มแข็งทางจิตใจ จะช่วยให้ลูกปรับตัวและผ่านพ้นสถานการณ์ที่ไม่ลงตัวนั้นได้แบบอยู่รอดปลอดภัย
การปรับ Mindset เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาของลูกน้อยทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และชีวิต เราต้องสอนลูกให้รู้ว่า คุณค่าของเราอยู่ที่ความสามารถของหนึ่งสมองสองมือ และสติปัญญาที่ตัวเราเองเป็นผู้สร้างขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดหรือการกระทำของผู้ใด สอนลูกให้รู้จักสืบสานจุดแข็ง พัฒนาจุดอ่อน และต่อยอดทักษะความสามารถของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ลูกก้าวข้ามการถูกล้อเลียนด้วยความคึกคะนองของผู้กระทำไปได้อย่างปลอดภัย เช่น การให้ลูกรับรู้ชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายในด้านต่าง ๆ และถูกล้อเลียนสบประมาทด้วยคำพูดและท่าทางที่ทำให้เจ็บปวด แต่พวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยการปรับวิธีคิด พัฒนาศักยภาพของตนเอง แล้วพิชิตการล้อเลียนเหล่านั้นมาได้อย่างทระนงองอาจ สร้างเกียรติยศและชื่อเสียงให้ตัวเอง วงศ์ตระกูล และประเทศชาติได้ เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป
ธรรมชาติของเด็กที่ฉลาดเฉลียว จะเป็นเด็กที่มีความกล้าในศักยภาพเชิงบวก ฉะนั้น เราต้องส่งเสริมและสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นของลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกเรารู้จักฉลาดคิด เสริมความเข้าใจและความมั่นใจในตนเอง จะได้ไม่กลัวการถูกล้อเลียนหรือการถูกด้อยค่า และสามารถเรียนรู้การรับมือกับสิ่งไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากคำพูดของคนอื่น เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ลูก การเรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นตัวช่วยให้ลูกเป็น Smart Kids ได้อย่างดี เพราะเกมหรือกิจกรรมที่ลูกเล่นและทดลอง จะทำให้ลูกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยการลองผิดลองถูก พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออก เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ และสร้างการเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อลูกทำได้ ลูกจะมีความรู้สึกดี ๆ และเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากขึ้น
การป้องกันไว้ก่อนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความเปราะบางให้ลูก หากลูกของเรารู้เท่าทันการถูกล้อเลียน จึงเปรียบเสมือนมีเกราะกำบังไม่ให้ภัยอันตรายจากการถูกล้อเลียนมากล้ำกราย ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ สังคม และความเชื่อมั่นของลูกได้ ฉะนั้น เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องร่วมกันสร้างพื้นฐานชีวิตที่แข็งแรงให้ลูก เพื่อให้ลูกอยู่รอดปลอดภัยจากการถูกล้อเลียน
ณัณท์